ไม่กี่ปีให้หลังมานี้ เมืองน่านเนื้อหอมขึ้นเรื่อยๆ มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเยือนเมืองหลวงล้านนาตะวันออกแห่งนี้ไม่ขาดสาย เป็นโอกาสให้เมืองเล็กๆ ในอ้อมกอดของเทือกเขาหลวงพระบางสลับซับซ้อน ได้อวดความงดงามที่เก็บเร้นอยู่เงียบๆ มาชั่วนาตาปีให้ใครต่อใครได้ชื่นชมกันบ้าง และสถานที่แห่งหนึ่งที่จะทำให้เราได้ยลโฉมเมืองงามชายแดนแห่งนี้ได้แบบพาโนรามา คือจุดชมวิวบนยอดดอยเขาน้อย ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน นอกเหนือไปจากพระธาตุแช่แห้งอันเลื่องชื่อ

พระธาตุเขาน้อย ศิลปะล้านนาผสมพม่า สร้างขึ้นในสมัยพญาภูเข็ง (เจ้าปู่เข็ง) ปี พ.ศ. ๒๐๓๐

พระธาตุเขาน้อย ศิลปะล้านนาผสมพม่า สร้างขึ้นในสมัยพญาภูเข็ง (เจ้าปู่เข็ง) ปี พ.ศ. ๒๐๓๐

บรรยากาศภาพรวมบริเวณวัด เงียบสงบ

บรรยากาศภาพรวมบริเวณวัด เงียบสงบ

 

ขับรถออกจากเมืองน่านไปทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กิโลเมตร ในเขตตำบลดู่ใต้ ปรากฏภูเขาลูกย่อมๆ สูงเพียง 240 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ชาวบ้านเรียกกันว่า ดอยเขาน้อย ยอดเขาแห่งนี้เป็นที่ตั้งของพระธาตุสีขาว เป็นที่สักการะของชาวบ้านย่านนี้ และชาวเมืองน่านมาตั้งแต่อดีต มีข้อสันนิษฐานว่า พระธาตุเขาน้อย องค์นี้ มีอายุร่วมสมัยกับพระธาตุแช่แห้ง มเหสีรองของพญาภูเข็ง (เจ้าปู่เข็ง) โปรดให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๐ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระรัตนตรัย และทำนุบำรุงพระศาสนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยพงศ์ผลิตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านราวปีพ.ศ. ๒๔๔๙ – ๒๔๕๔ พร้อมๆ กับการสร้างวิหาร พระธาตุเขาน้อย เป็นพระธาตุก่ออิฐถือปูน สีขาว ศิลปะแบบล้านนาผสมพม่า สัดส่วนสวยงาม

พระอุโบสถสีขาวเรียบง่าย หน้าบรรณเป็นลวดลายพรรณพฤกษา

พระอุโบสถสีขาวเรียบง่าย หน้าบรรณเป็นลวดลายพรรณพฤกษา

 

หน้าบรรณมุขหน้า ประดับด้วยไม้ฉลุลายพรรณพฤกษา

หน้าบรรณมุขหน้า ประดับด้วยไม้ฉลุลายพรรณพฤกษา

 

ใกล้ๆ กับองค์พระธาตุคือพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน รูปแบบเรียบง่าย แต่มีเสน่ห์ตามแบบสถาปัตยกรรมฝีมือช่างท้องถิ่น ตัวอาคารทาสีขาว หน้าอาคารมีมุขยื่นออกมาหนึ่งห้อง หน้าบรรณของมุขหน้าตกแต่งด้วยไม้ฉลุลวดลายพรรณพฤกษา ด้านนอกไม่มีการตกแต่งลวดลายอย่างในหลายๆ วัด มองแล้วรู้สึกสงบ และสบายตา หน้าบรรณของอีกสองด้านเป็นภาพเขียนสีลวดลายพรรณพฤกษาเรียบง่าย อ่อนช้อย ห้องกลางพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานสีขาวปางมารวิชัย ปากสีแดงเข้ม ขนงคิ้วสีดำเข้มโก่งงอนคล้ายคันศร อิทธิพลศิลปะแบบพม่า ตั้งอยู่บนฐานชุกชีลวดลายสวยงาม

พระประธานภายในพระอุโบสถ พระพุทธรูปปางมารวิชัย อิทธิพลศิลปะพม่า

พระประธานภายในพระอุโบสถ พระพุทธรูปปางมารวิชัย อิทธิพลศิลปะพม่า

ไฮไลท์สำคัญของดอยเขาน้อย นอกเหนือไปจากการสักการะพระธาตุศักดิ์สิทธิแล้ว นักท่องเที่ยวยังได้เห็นทิวทัศน์เมืองน่านจากมุมสูงอย่างชัดเจน เมืองเล็กๆ ที่กระจุกตัวอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำน่าน มีทิวเขาเป็นฉากหลัง เป็นภาพที่งดงามและน่าประทับใจ บนลานกว้างสำหรับชมทิวทัศน์นี้ มีพระพุทธรูปลีลาปางประทานพร สูง 9 เมตรตั้งอยู่บนฐานดอกบัว มีนามว่า พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน

พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ปางประทานพร หันพระพักตร์ไปทางเมืองน่าน

พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ปางประทานพร หันพระพักตร์ไปทางเมืองน่าน

การเดินทางขึ้นมาบนยอดดอยเขาน้อยมีหลายวิธี ใครมีกำลังวังชามากจะพิสูจน์ศรัทธาโดยการเดินขึ้นบันไดนาคจากเชิงดอยมาทีละขั้น รวมทั้งสิ้น 303 ขั้น หรือจะขับรถไต่เขาขึ้นมาตามถนนลาดยางจนถึงด้านบนยอดดอยก็ได้เช่นกัน

ทิวทัศน์เมืองน่าน จากจุดชมวิวบนดอยเขาน้อย มองเห็นเมืองน่านมุมกว้าง

ทิวทัศน์เมืองน่าน จากจุดชมวิวบนดอยเขาน้อย มองเห็นเมืองน่านมุมกว้าง

ภาพพระพุทธรูปลีลาสีทองสุกปลั่งสูงสง่า ยกพระหัตถ์ขึ้นในท่าประทานพร หันพระพักตร์ไปยังเมืองน่าน ราวกับกำลังอำนวยพรให้เมืองแห่งนี้ร่มเย็นเป็นสุข และคอยปกปักรักษาชาวเมืองน่านจากภยันตรายทั้งหลาย แม้ว่าจะเป็นภาพที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในนิตยสาร เว็บไซต์ หรือโปสต์การ์ด แต่เสน่ห์ของมันก็ไม่ได้เสื่อมคลายไปตามการใช้งานมากน้อยแต่อย่างใด แต่กลับสร้างความประทับใจให้ผู้มาเยือนได้ทุกครั้ง ต่างช่วงเวลา ต่างกรรมวาระ ต่างฤดูกาล ความงามที่จับต้องได้เหล่านี้ไม่เคยหยุดนิ่ง แม้กลับไปแล้วพร้อมกับความประทับใจหนึ่ง เมื่อกลับมาเยือนอีกครั้งก็ได้ความประทับใจใหม่กลับไปเสมอ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา