golden_mountain_5

 

ตำนานแร้งวัดสระเกศ ชมวิวเมืองกรุงบนภูเขาทอง

สถานที่ตั้ง : แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

พิกัด : 13.753744,100.508108

       

       วัดสระเกศ มีชื่อเต็มว่า วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองมหานาค เป็นวัดโบราณในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ “วัดสะแก” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสระเกศ” ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากประเทศกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี พ.ศ. 2325 ปัจจุบันชื่อของวัดสระเกศ เป็นที่รู้จักในนามของ “ภูเขาทอง” มากกว่า เพราะนอกจากจะมองเห็นทองอร่ามงดงามจากระยะไกลแล้ว ยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ของกรุงเทพมหานครในมุมสูงอีกด้วย

      ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ภูเขาทอง golden_mountain_2 golden_mountain_3 golden_mountain_4

 

    มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากๆ เกี่ยวกับโรคห่าและแร้งวัดสระเกศ เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2363 เกิดโรคห่าระบาดอย่างหนักในกรุงเทพมหานคร ขณะนั้นยังไม่มีวิธีรักษาและรู้จักการป้องกัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯ ให้ตั้งพิธีขับไล่โรคนี้ขึ้น เรียกว่า "พิธีอาพาธพินาศ" โดยจัดขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท กระนั้นก็ยังมีคนตายเพราะอหิวาต์ถึง 3 หมื่นคน ศพกองอยู่ตามวัดสูงเป็นภูเขา ฝังและเผาไม่ทัน บ้างก็แอบเอาศพทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองในเวลากลางคืน จึงมีศพลอยเกลื่อนไปหมด ผู้คนต่างอพยพหนีออกไปจากเมืองด้วยความหวาดกลัว พระสงฆ์ทิ้งวัด งานราชการและธุรกิจต้องหยุดชะงัก เพราะถ้าไม่หนีไปก็มีภาระในการดูแลคนป่วย และจัดการกับศพของญาติ

    ในเวลานั้นวัดสระเกศเป็นศูนย์รวมของแร้งจำนวนนับพัน โรคอหิวาต์จะเวียนมาในทุกฤดูแล้ง และหายไปในฤดูฝนทุกปี แต่ในปี พ.ศ. 2392 อหิวาต์ระบาดหนัก ครั้งนี้เรียกกันว่า "ห่าลงปีระกา" ภายในหนึ่งเดือนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 20,000 คน กว่าจะจบฤดูสุดเหี้ยนตายไปถึง 40,000 คน เจ้าฟ้ามงกุฏฯ รัชกาลที่ 4 ซึ่งขณะนั้นดำรงเพศบรรพชิตเป็นพระราชาคณะ ได้ทรงบัญชาให้วัดสามวัด คือ วัดสระเกศ วัดบางลำพู และวัดบพิตรพิมุข เป็นสถานที่สำหรับเผาศพ มีศพที่นำมาเผาสูงสุด ถึงวันละ 696 ศพ แต่กระนั้นศพที่เผาไม่ทัน ก็ถูกกองสุมกันอยู่ตามวัด โดยเฉพาะวัดสระเกศ มีศพส่งไปไว้มากที่สุด ทำให้ฝูงแร้งแห่รุมทึ้งกินซากศพตามลานวัด บนต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิเต็มไปด้วยแร้ง แม้เจ้าหน้าที่จะถือไม้คอยไล่ก็ไม่อาจกั้นฝูงแร้งที่จ้องเข้ามารุมทึ้งซากศพอย่างหิวกระหายได้ และจิกกินซากศพ จนเห็นกระดูกขาวโพลน พฤติกรรมของแร้งวัดสระเกศที่น่าสยดสยองจึงเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่ว

 

by Traveller Freedom

golden_mountain_6