ถ้ำผาไท เป็นถ้ำที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นถ้ำที่สวยที่สุดในจังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของ   อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ครอบคลุมท้องที่อำเภอเมือง อำเภอแจ้ห่ม และอำเภองาว จังหวัดลำปาง มีลักษณะภูมิประเทศทั่วไปเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะป่าสัก เป็นป่าสักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ในอำเภองาว จะพบต้นกล้าสักวางจำหน่ายริมถนนทางหลวงอยู่เป็นจำนวนมาก ในเขตอุทยานฯ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีสถานที่ท่องเที่ยวนอกจากถ้ำผาไท เช่น หล่มภูเขียว เขื่อนกิ่วลม และห้วยแม่พลึง เป็นต้น 

ถ้ำผาไท (9)
   
ถ้ำผาไท 

สถานที่ตั้ง : ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง
พิกัด : 18.604077,99.897971

ถ้ำผาไท (1)


    ถ้ำแห่งนี้สันนิษฐานว่าถูกค้นพบโดยพรานป่าล่าสัตว์ ภายในถ้ำเป็นโถงขนาดใหญ่เกิดจากภูเขาหินปูนอายุมากกว่าสิบล้านปี ความลึกจากปากถ้ำเข้าไปประมาณ 1,150 เมตร ตลอดทางเดินภายในถ้ำมีการติดตั้งไฟส่องสว่างเป็นบางจุด นักท่องเที่ยวจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อนำทางเพื่อให้สะดวกและความปลอดภัยในการเดินชมถ้ำ ภายในถ้ำพบหินงอกหินย้อยอยู่เป็นจำนวนมาก บริเวณปากถ้ำเป็นคูหากว้าง มีองค์พระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่บริเวณปากถ้ำ ให้พุทธศาสนิกชนได้เคารพสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนเดินเที่ยวชมถ้ำ มีเสาหินขนาดใหญ่ความสูงกว่าสิบเมตรตั้งตระหง่านเด่นเป็นเอกลักษณ์ ฝั่งผนังถ้ำด้านขวามีรอยจารึกพระปรมาภิโธยย่อ ?ป.ป.ร.? ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงจารึกไว้เมื่อครั้งเสด็จประพาสถ้ำผาไทในปี พ.ศ. 2469 รวมถึงในปี พ.ศ. 2496 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จประพาส ดังที่ปรากฏเป็นรอยจารึกพระปรมาภิไธย่อ ?ภปร.? บริเวณหินย้อยภายในถ้ำ นอกจากนี้ยังมีทางแยกภายในถ้ำ เพื่อไปถ้ำโจรและถ้ำเสือที่มีหินงอกหินย้อยรูปทรงแปลกตา และมีการค้นพบถ้ำเล็กถ้ำน้อยอยู่ภายในถ้ำผาไทอีกมากมาย 

ถ้ำผาไท (3) ถ้ำผาไท (4)

ถ้ำราชคฤห์ 
    เป็นถ้ำหินปูนอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้านแม่แก้ อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามใกล้เคียงกับถ้ำผาไท การเข้าถึงตัวถ้ำต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 300 เมตร จากลานจอด

ถ้ำผาไท (6)
   
ภาพเขียนประวัติศาสตร์ บ้านพักห้วยหก 
    เป็นภาพเขียนสีแดงของกลุ่มคนเดินเรียงแถว เป็นภาพเขียนที่มีอายุประมาณ 2,000-3,000 ปี เป็นยุคสมัยของสังคมเร่ร่อน และลักษณะของภาพเขียนดังกล่าวไม่ค่อยได้พบเห็นมากนักในประเทศไทย สำหรับการเดินทางต้องใช้ทางเดินเท้าจากหมู่บ้านห้วยหก ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร

บทความและภาพ โดย Traveller Freedom