คติความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดอยู่คู่กับชาวไทยล้านนามาตั้งแต่สมัยที่หัวเมืองเหนือทั้งหลายตกเป็นประเทศราชของพม่า ซึ่งกินเวลายาวนานถึง 200 ปี จึงไม่น่าแปลกใจนักที่คติดังกล่าวจะฝังรากลึกอยู่ในดินแดนทางตอนบนของประเทศมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ พระธาตุเจดีย์ประจำปีนักกษัตรทั้ง ๑๒ แห่งก็ล้วนเป็นเจดีย์ในแว่นแคว้นล้านนา และดินแดนพม่าแทบทั้งสิ้น ครั้งนี้เราขออนุญาตพาท่านกราบนมัสการ และเยี่ยมชมพระธาตุเจดีย์สีทองอร่ามแห่งลุ่มแม่น้ำยม พระธาตุช่อแฮ มหาเจดียสถานแห่งเมืองแพร่ พระธาตุประจำปีขาล

พระธาตุช่อแฮ บนดอยโกสิยธชัคคะ ปูชนียสถานสำคัญของเมืองแพร่

พระธาตุช่อแฮ บนดอยโกสิยธชัคคะ ปูชนียสถานสำคัญของเมืองแพร่

ขับรถออกจากเมืองแพร่ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ตามถนนหมายเลข 1022 ประมาณ 9 กิโลเมตร ที่สุดปลายถนนเส้นนี้เป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่สักการะของคนเมืองแพร่มานานหลายร้อยปี จนมีคำเปรียบเปรยไว้ว่า ใครไม่ได้มาสักการะเหมือนมาไม่ถึงเมืองแพร่

ทางขึ้นพระธาตุ ด้านประตูศรีวิชัย

ทางขึ้นพระธาตุ ด้านประตูศรีวิชัย

บริเวณพระธาตุเต็มไปด้วยรูปปั้นเสือหลากหลายรูปแบบ หลากหลายขนาด แสดงถึงความศรัทธาของคนเกิดปีขาล

บริเวณพระธาตุเต็มไปด้วยรูปปั้นเสือหลากหลายรูปแบบ หลากหลายขนาด แสดงถึงความศรัทธาของคนเกิดปีขาล

ตามประวัติการสร้างพระธาตุแห่งนี้กล่าวไว้ว่า พระธาตุช่อแฮ สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. ๑๘๗๙-๑๘๘๑ โดยขุนลัวะอ้ายก้อม ชาวละว้า โดยได้รับพระราชทานผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากพระมหาอุปราชแห่งกรุงสุโขทัย (ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพระยาลิไท) ให้นำมาบรรจุในพระธาตุ ซึ่งกำหนดสร้างขึ้นบนยอดดอยโกสิยธชัคคะ ในเขตเมืองแพร่ ในขณะนั้นอยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงสุโขทัยด้วย หลังจากเมืองแพร่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา พระธาตุองค์นี้ก็ได้รับการทำนุบำรุงสืบต่อกันมา จนมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยครูบาศรีวิชัย นักบุญคนสำคัญแห่งล้านนา ชื่อ ช่อแฮ สันนิษฐานว่ามาจากชื่อผ้าแพรเนื้อดีทอจากดินแดนสิบสองปันนา ซึ่งชาวบ้านนิยมนำมาบูชาพระธาตุ

เจดีย์ศิลปะล้านนาเชียงแสน ทรงแปดเหลี่ยมย่้อมุม ประดับทองจังโกทั้งองค์

พระธาตุช่อแฮ เป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสน ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุม บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม ก่ออิฐถือปูนประดับด้วยแผ่นทองจังโกทั้งองค์ ยอดฉัตรเป็นแบบล้านนาแท้ มีรั้วล้อมรอบองค์พระธาตุ โดยมีซุ้มประตูโขงทรงปราสาทล้านนาประดับอยู่ที่มุมทั้งสี่ ตามคติเรื่องพระธาตุประจำปีเกิด พระธาตุช่อแฮจัดว่าเป็นพระธาตุสำหรับผู้เกิดปีขาล ผู้คนนิยมเดินทางมาสักการะพระธาตุแห่งนี้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

พระอุโบสถ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับองค์พระธาตุ

ลวดลายประดับกรอบประตูพระอุโบสถ อ่อนช้อย สวยงาม

ภาพกรอบบานหน้าต่างพระอุโบสถมุมกว้าง

ภาพกรอบบานหน้าต่างพระอุโบสถมุมกว้าง

ใกล้ๆ องค์พระธาตุมีอุโบสถขนาดใหญ่ สถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย กรอบประตูและหน้าต่างตกแต่งด้วยกระจกสี เป็นลวดลายเครือเถาวัลย์ และเทวดาผู้รักษาพระวิหาร ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน พระเจ้าช่อแฮ หรือ หลวงพ่อช่อแฮ พระประธานขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง ๓.๘๐ สูง ๔.๕๐ เมตร ก่ออิฐถือปูน ปิดทอง ศิลปะเชียงแสน-สุโขทัย คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากสร้างพระธาตุแล้วเสร็จ

พระเจ้าช่อแฮ หรือ หลวงพ่อช่อแฮ พระประธานในพระอุโบสถ ศิลปะเชียงแสน-สุโขทัย นอกจากองค์พระธาตุ และพระประธานในพระอุโบสถ ภายในระเบียงคดบนยอดดอยโกสิยธชัคคะแห่งนี้ ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ที่ชาวเมืองแพร่นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ อาทิ พระเจ้าทันใจ (พระเจ้าตันใจ๋) ขึ้นชื่อเรื่องการบนบานศาลกล่าว ซุ้มประดิษฐานพระเจ้าทันใจจึงไม่เคยว่างเว้นผู้ศรัทธาเลย

ลูกนิมิตรโบราณ รอบพระอุโบสถ

ลูกนิมิตรโบราณ รอบพระอุโบสถ

กล่าวได้ว่าพระธาตุองค์นี้คือหนึ่งในสถานที่สำคัญของเมืองแพร่ และประเทศไทย ที่ใครมีโอกาสมาเยือนต้องไม่พลาดมากราบนมัสการให้ได้สักครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยเฉพาะผู้ที่เกิดปีขาล และมีความเชื่อตามคติพระธาตุประจำปีเกิด ประเพณีนมัสการพระธาตุช่อแฮ จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ 7 วัน 7 คืนเป็นประจำทุกปี ราวเดือนมีนาคม ผู้สนใจอย่าลืมติดตามข่าวสาร และประกาศวันจัดงานที่แน่นอนกันได้อีกครั้งเป็นประจำทุกปีค่ะ

เรื่องและภาพโดย เลดี้ ดาริกา