ชุมชนคนละว้าวิถีแห่งความพอเพียง @ บ้านดง 

สถานที่ตั้ง : บ้านดง ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
พิกัด : 18.341021, 98.079924

บ้านดง แม่ฮ่องสอน

 

    “บ้านดง บ้านป่า” คำว่า ดง หมายถึง ป่า หากย้อนกลับไปในอดีต ก่อนที่โครงการหลวงจะเข้าไปบุกเบิกนวัตกรรมทางการเกษตรให้กับชาวบ้านในพื้นที่ บ้านดงแห่งนี้ ก็ไม่ต่างไปจากบ้านป่าจริงๆ ..แต่ในปัจจุบัน บ้านดงและชาวบ้านบ้านดงได้เปลี่ยนไปแล้ว ชาวบ้านที่นี่กลายเป็น “คนไร่คนสวน” ผู้เจริญรอยตามพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง หาใช่บ้านป่าอย่างแต่ก่อนไม่

บ้านดง แม่ฮ่องสอน


    บ้านดง เป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าละว้า “ละว้า” หรือลัวะ คือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ใครหลายคนเรียกพวกเขาว่าเป็นชาวเขาชาวดอย แต่แท้ที่จริงแล้ว ละว้าเป็นประชากรแรกที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบในเขตภาคเหนือ จนกระทั่งมีการเข้าไปแทนที่จากกลุ่มชนคนเมือง ทำให้ชาวละว้าต้องย้ายถิ่นฐานทำกิน กระเถิบร่นถอยออกไปเรื่อยๆ จนต้องขึ้นไปอาศัยอยู่บนเขาบนดอย กลายมาเป็นคนดอยไปโดยปริยาย หากได้ย้อนอดีตกลับไปหลายร้อยปีก่อน ละว้าคือกลุ่มชนดั้งเดิมของดินแดนล้านนา และเป็นต้นตระกูลของชาวเหนือทั้งมวล ซึ่ง.. ถูกลืม

บ้านดง แม่ฮ่องสอน


    ปัจจุบันชาวละว้า ตั้งถิ่นฐานอยู่หนาแน่นบริเวณหุบเขาในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน และหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นก็คือ บ้านดง ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อยแห่งนี้ ลักษณะโครงสร้างบ้านแบบดั้งเดิมของชาวละว้าเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง 2 เมตร มุงด้วยหญ้าคาคลุมเกือบถึงพื้นดิน ปูด้วยฟากไม้ไผ่ ใต้ถุนบ้านใช้เป็นคอกเลี้ยงสัตว์และที่เก็บฟืน ภายในหมู่บ้านมีโบสถ์คริสเตียนไว้สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา

บ้านดง แม่ฮ่องสอน

 

    การเดินทางไปบ้านดง จากอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน หรือจากอำเภอแม่สะเรียง ให้มุ่งมาตามถนนทางหลวงสาย 108 สู่อำเภอแม่ลาน้อย จากนั้นเลี้ยวเปลี่ยนเข้าเส้นทางรอง ที่อยู่ตรงข้ามกับที่ทำการไปรษณีย์แม่ลาน้อย เป็นถนนทางหลวงหมายเลข 1266 วิ่งตามทางไปอีกประมาณ 35 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดียวกับทางไปโครงการหลวงแม่ลาน้อย ลักษณะของเส้นทางจะเป็นทางขึ้นเขาชันระดับปานกลาง จำนวนโค้งระดับเหมาะสมกับเส้นทางขึ้นดอยปกติ ไม่ถืงกับเส้นทางอันตราย แต่ก็ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่ประมาท

บ้านดง แม่ฮ่องสอน

 

    แต่ก็อีก เนื่องจากเป็นเส้นทางภูเขาที่นอกจากจะมีความคดโค้งที่สวยงามแล้ว วิวทิวทัศน์ตลอดสองข้างทางยังได้เห็นไร่สวนเกษตรและนาขั้นบันไดที่งดงามอีกด้วย เฉกเช่นนี้แล้วก็คงจะมีบ้างที่ระหว่างขับขี่จะมีการเหลือบสายตาหันหน้าแลซ้ายแลขวา เพื่อชื่นชมกับธรรมชาติที่งดงามที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ รวมถึงชาวบ้านมอบให้ จนไม่น่าแปลกใจเลยที่จะพบเห็นรถยนต์และรถจักรยานยนต์จอดอยู่ริมทางเพื่อลงไปเก็บภาพความประทับใจในธรรมชาติอันดีงามนี้

บ้านดง แม่ฮ่องสอน

 

การแต่งกาย ของชาวละว้า สามารถจำแนกออกเป็นสองแบบ คือ การแต่งกายในชีวิตประจำวัน กับการแต่งกายในพิธีกรรม ในชีวิตประจำวันนั้น หญิงละว้าจะสวมเสื้อขาวแขนสั้น สีพื้นของผ้านุ่งเป็นสีดำมีลายคั่นเป็นแถบในแนวนอน ลายนี้ได้จากการมัดลายขนาดต่างๆ ที่เชิงผ้าด้านล่างเป็นแถบใหญ่ซึ่งมักเป็นสีแดงหรือสีชมพูเหลือบด้วยสีเหลือง ลายมัดนั้นเป็นสีน้ำเงินแซมขาว มีผ้าพันแขน และผ้าพันแข้ง หญิงละว้าไว้ผมยาวทำเป็นมวยประดับด้วยปิ่นหรือขนเม่นและปล่อยปลายยาว ส่วนหญิงสูงอายุนิยมมวยผมต่ำ หญิงละว้านิยมสร้อยเงินเม็ดและลูกปัดสีแดง สีส้ม สีเหลืองหลายเส้นเป็นเครื่องประดับ มีต่างหู โดยเฉพาะนิยมต่างหูไหมพรมสีเหลืองแดงหรือส้มยาวจนถึงไหล่ หญิงส่วนใหญ่มี “สกุนลอง” คือกำไลฝ้ายเคลือบด้วยยางรักจำนวนหลายวง นอกจากนี้ยังมีกำไลแขนและกำไลข้อมือทำด้วยเงินอีกด้วย เครื่องใช้ประจำของหญิงละว้าอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปคือกล้องยาเส้นและยังนิยมสะพายย่ามเวลาเดินทางอีกด้วย ส่วนผู้ชายชาวละว้านิยมสวมเสื้อยืด เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาวแบบคนพื้นราบทั่วไป แต่ส่วนใหญ่สะพายย่ามเป็นประจำ

บ้านดง แม่ฮ่องสอน


    การแต่งงาน ชาวละว้าจะต้องแต่งงานกับคนที่มาจากสายตระกูลอื่น และอาจแต่งงานกับคนต่างชาติพันธุ์ได้ ทั้งนี้ฝ่ายหญิงจะมีอายุมากกว่าหรือน้อยกว่าคู่สมรสของตนก็ได้ และชาวละว้านิยมการมีผัวเดียวเมียเดียว ในอดีตจะมีขั้นตอนการแต่งงาน โดยเริ่มจากการที่หนุ่มจะไปจีบสาวโดยการเข้าไปหาหญิงถึงในห้องนอนซึ่งพ่อแม่ก็นอนอยู่ด้วย หากหนุ่มใช้เล็บจิกหัวแม่เท้าของหญิงและขับเพลงเชิงขอความรักถึงสามครั้ง แล้วสาวยังไม่ตื่นก็จะต้องกลับไป และหากมาอีกจนครบสามครั้งแล้วสาวยังไม่ตื่นก็จะต้องกลับไป และหากมาอีกจนครบสามครั้งแล้วสาวไม่ยอมลุกขึ้นคุยด้วย ก็แสดงว่าสาวไม่ยอมรับชายหนุ่มผู้นั้น เมื่อหนุ่มสาวคุยกันจนถูกใจกันแล้ว หนุ่มก็จะเริ่มมอบของกำนัลแก่หญิงโดยให้ประมาณปีละสามครั้ง หากหญิงไปรักกับชายอื่นแล้วจะต้องคืนของกำนัลแก่ชายเป็นสองเท่า เมื่อตกลงปลงใจกันแล้วก็จะมีพิธีจับสาว คือแอบขึ้นไปฉุดสาวตามประเพณี ซึ่งในคืนนั้นฝ่ายหนุ่มก็จะทำพิธีขอขมาต่อพ่อแม่และผีบรรพบุรุษของฝ่ายหญิง จากนั้นจึงเตรียมการแต่งงาน ก่อนถึงวันแต่งงงานหนึ่งวัน ผู้นำทางพิธีกรรมจะทำพิธีส่งเคราะห์เมืองเพื่อบอกกล่าวให้ผีเมืองรับรู้ว่า จะมีครอบครัวใหม่อีกครอบครัวหนึ่งแล้ว 

บ้านดง แม่ฮ่องสอน

บ้านดง แม่ฮ่องสอน

บ้านดง แม่ฮ่องสอน

เมื่อถึงวันแต่งงาน ฝ่ายเจ้าบ่าวและเพื่อนจะไปนอนเฝ้าเจ้าสาว ภายในวันงานจะมีขบวนเจ้าบ่าวและเจ้าสาวไปยังบ้านของเจ้าบ่าว และขบวนยายของเจ้าสาวกับญาติสูงอายุฝ่ายหญิง นำเครื่องใช้และเสื้อผ้าของเจ้าสาวไปส่งที่บ้านเจ้าบ่าว นอกจากนั้นยังมีขบวนชายตั้งแต่หนุ่มจนแก่นำเงินค่าตัวสาวไปส่งให้แก่ฝ่าย เจ้าบ่าว เมื่อถึงเวลาเย็นหลังจากที่มีขบวนนำเงินค่าตัวสาวแล้ว ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายก็จะนับเงินและเพิ่มเงินให้เป็นที่พอใจ แล้วมอบให้แก่คู่บ่าวสาวและสิ้นสุดพิธีการแต่งงาน แต่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวยังจะต้อนรับแขกต่อไป เมื่อแขกต่างหมู่บ้านลากลับ เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องนำเสื่อ อาหารและเครื่องดื่มไปส่งแขกที่ปากทางเข้าหมู่บ้านแล้วเลี้ยงดูแขกเป็นครั้งสุดท้าย

บ้านดง แม่ฮ่องสอน

    โดยทั่วไปชาวละว้าสุภาพ ใจเย็น ซื่อสัตย์และมีน้ำใจให้ความสำคัญในการต้อนรับแขก โดยจะจัดชุดหมากและเมี่ยงมารับแขก รวมทั้งอาหาร ซึ่งชาวละว้าจะให้แขกกินเสียงก่อนโดยเจ้าของบ้านกินทีหลัง เมื่อแขกออกจากบ้านก็จะได้รับของฝากเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขนม เมี่ยง พริก หรือฝักส้มป่อย ส่วนการปลูกข้าวในที่นานั้น จะเริ่มกิจกรรมหลังจากการปลูกข้าวไร่แล้วสองเดือน โดยเป็นการทำนาในบริเวณที่ราบนอกหมู่บ้าน และที่พื้นที่ลาดเอียงตามเชิงเขา ซึ่งมีการปรับให้มีลักษณะเป็น “นาขั้นบันได” พื้นที่ไร่นาดังกล่าวนี้เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็จะใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักในหน้าแล้งได้อีกด้วย โดยนิยมปลูกผักกาดชนิดต่างๆ ต้นหอม ผักชี ผักคะน้า เป็นต้น เมื่อเก็บผักกาดหมดแล้วบ้างพื้นที่ก็จะปลูกยาสูบ หรือพืชไร่อื่นๆ ตามแต่วิถีเกษตรของแต่ละคน

    บ้านดง เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ถนนสู่บ้านดงคดเคี้ยวลดเลี้ยวตามดงดอยและขึ้นลงเลียบสันเขา ตลอดระยะทางมีทัศนียภาพที่สวยงามของภูเขาไร่สวนที่สลับซับซ้อน เมื่อเข้าใกล้จะเห็นกลุ่มบ้านเกาะอยู่บนลาดเขามีต้นไม้เขียวขจีแซมอยู่ มีถนนแคบๆ เข้าสู่หมู่บ้าน  แต่ถนนยังไม่อยู่ในสภาพดีพร้อมทั้งสาย ในช่วงฤดูฝนมักมีปัญหาถนนดินลูกรังมีน้ำขังและเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือกลายเป็นแอ่งเลนที่รถผ่านไม่ได้ ภายในหมู่บ้านมีสาธารณูปโภคทัดเทียมหมู่บ้านพื้นราบ มีไฟฟ้าและน้ำประปาทุกครัวเรือน มีโรงเรียนอยู่ภายในหมู่บ้านที่สอนจนถึงระดับมัธยมปลาย ในอดีตพื้นที่บ้านดงและหมู่บ้านใกล้เคียงมีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2523 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยได้ถือกำเนิดเกิดขึ้น โดยใช้พื้นที่บ้านดงเป็นที่ทำการโครงการหลวงแม่ลาน้อย 

    พ่อเฒ่าบุญสม แก่นเจิง ได้เล่าว่าบ้านดงมีที่มาจากผู้คนชาวละว้าจาก 4 ตระกูลที่อพยพโยกย้ายมาจากต่างที่ต่างถิ่น ทั้งตระกูลกวนจุยะ กวนลวด โกลงปัด และตระกูลสะมัง ตกทอดเป็นหมู่บ้านกลางป่าเขาที่ความคิดความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษ ทุกวันนี้คนละว้าบ้านดงเต็มไปด้วยความศรัทธาอันหลากหลาย โดยเฉพาะชาวคริสต์เตียน ซึ่งหล่อหลอมให้ชาวบ้านดงรุ่นใหม่เป็นคนดีของสังคม และมีการเป็นอยู่ตามวิถีเกษตรอย่างพอเพียงสมกับที่เกิดในแผ่นดินรัชกาลที่ ๙