พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
สถานที่ตั้ง : ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พิกัด : 13.755570,100.504060
ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2532 บนสถานที่เดิมของศาลาเฉลิมไทย ตั้งอยู่บริเวณมุมถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนมหาไชย ตั้งชื่อตามพระนามกรมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พื้นที่โดยรอบเป็นลานกว้าง มีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างพลับพลาที่ประทับเพื่อใช้เป็นที่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกรับแขกเมืองของประเทศ
แต่เดิมในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พื้นที่บริเวณนี้มีการก่อสร้างศาลาเฉลิมไทย ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาจึงมีการรื้อศาลาเฉลิมไทยออกไป เพื่อเปิดมุมมองเกาะรัตนโกสินทร์ แล้วจึงได้ก่อสร้างเป็นลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ดังที่เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบัน
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุลาลัย ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 อันจะขอกล่าวถึงส่วนหนึ่งในประวัติความเป็นมาขององค์รัชกาลที่ ๓
ย้อนกลับไปในสมัยปลายรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระบรมชนกนาถ (หมายถึง ร. ๒) ได้รับอุปราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ภายหลังจากกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (วังหน้า) เสด็จสวรรคต พระองค์ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าในพระราชวังบวร รับราชการในสมเด็จพระบรมชนกนาถ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อมาเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในปี พ.ศ. 2356 ขณะทรงพระชนมายุ 26 พรรษา พระองค์ทรงมีราชการประจำ คือ ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมท่า กับโปรดให้จัดสำเภาหลวงออกไปค้าขาย ณ เมืองจีน และทรงบังคับราชการในกรมพระตำรวจอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
ทัศนียภาพบริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ แวดล้อมด้วยสิ่งสำคัญหลายแห่ง เช่น โลหะปราสาท วัดราชนัดดา ป้อมมหากาฬ นิทรรศรัตนโกสินทร์ รวมถึงภูเขาทอง วัดสระเกศ ทั้งนี้ผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับสถานที่สำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เหล่านี้ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวอย่างสนุกสนานในเขตกรุงเทพมหานคร
by Traveller Freedom