พระราชพิธีศาสนาพราหมณ์ ณ เสาชิงช้า กำเนิดกรุงเทพมหานคร

 

สถานที่ตั้ง : แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พิกัด : 13.751906,100.501042

 

     กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางการปกครอง และเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของในประเทศไทย กรุงเทพมหานครเป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศไทย ที่ไม่ได้มีสถานะเป็นจังหวัด ชาวต่างชาติเรียกเมืองนี้ว่า "Bangkok" ซึ่งมาจากชื่อเดิมของกรุงเทพมหานคร คือ "บางกอก" ที่สำคัญคือ กรุงเทพมหานคร ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลกบันทึกไว้ใน กินเนสส์บุ๊ก

เสาชิงช้า (1)

    กรุงเทพมหานคร มีชื่อเต็มสุดยาวว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” มีความหมายว่า พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคง และเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้ พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้

เสาชิงช้า (2)

 

      เทวสถาน หรือ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ สร้างตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ที่สำคัญคือ พิธีโล้ชิงช้า เป็นอาคารทรงไทยภายในมีเทวรูปพระอิศวรประทับยืน เป็นพระประธานอยู่กลางแท่น เทวสถานแห่งนี้เป็นสถานที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของลัทธิศาสนาพราหมณ์ ซึ่งยังเป็นพิธีสำคัญที่ถูกสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเทวสถานได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ จากกรมศิลปากรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492

เสาชิงช้า (3)

    เสาชิงช้า (4)

   

    เสาชิงช้า สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2327 เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมปวายของศาสนาพราหมณ์ ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างวัดสุทัศน์เทพวราราม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และเทวสถาน ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกรุงเทพมหานคร พิธีโล้ชิงช้าได้ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งปัจจุบันการประกอบพระราชพิธีนี้จะกระทำภายในเทวสถานเท่านั้น

เสาชิงช้า (5)

    เสาชิงช้า มีลักษณะเป็นเสาชิงช้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนแท่นหิน มีความสูง 21 เมตร ตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกประวัติเสาชิงช้า เสาไม้แกนกลางคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ ล้วนทำด้วยไม้สัก โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักอย่างสวยงาม ทั้งหมดทาสีแดง ติดสายล่อฟ้าจากด้านบนลงดิน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเสาชิงช้าคู่เดิมถูกถอดเปลี่ยนเมื่อปี พ.ศ. 2549 ครั้งนี้ถูกคาดการณ์ว่าจะคงอยู่ไปอีกถึงหนึ่งศตวรรษ

เสาชิงช้า (6)

by Traveller Freedom