วนอุทยานภูลังกา
สถานที่ตั้ง : วนอุทยานภูลังกา ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา
โทรศัพท์ : 081 883 0307
พิกัด : 19.392623, 100.448848
วนอุทยานภูลังกา เป็นหน่วยงานที่อยู่ในการดูแลของ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเชียงคำและอำเภอปง จังหวัดพะเยา อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหยวนและป่าน้ำลาว และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยม มีเนื้อที่ประมาณ 7,800 ไร่ ได้รับการประกาศจัดตั้งให้เป็น “วนอุทยานภูลังกา” เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2545
วนอุทยานภูลังกา ตั้งอยู่ในลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงชันตามแนวเทือกเขาสันปันน้ำ วางตัวอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตก มีความสูงระหว่าง 900-1,720 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งต้นน้ำลำห้วยที่สำคัญ คือ น้ำแม่คะไหลผ่านด้านทิศใต้ ห้วยน้ำต้มและน้ำแม่รูไหลลงน้ำแม่รูทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห้วยคะแนงและห้วยป่ายางไหลลงน้ำแม่ลาวทางทิศเหนือ ลำห้วยทั้งหมดจะไหลลงสู่แม่น้ำยม แม่น้ำสายหลักของจังหวัดแพร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็น “ป่าดงดิบเขา” มีพันธุ์ไม้เด่นได้แก่ไม้ในวงศ์ไม้ก่อ เช่น ก่อเดือย ก่อใบเลื่อม ก่อแป้น ก่อลิ้ม ก่อหรั่ง กำยาน นางพญาเสือโคร่ง และกำลังเสือโคร่ง เป็นต้น “ป่าโปร่ง” มีพันธุ์ไม้เด่นที่พบได้แก่ ทะโล้ ไม้ก่อ ค่าหด ช้าแป้น ปอเลียงฝ้าย กางหลวง และเป็น “ทุ่งหญ้า” มีพันธุ์ไม้จำพวกหญ้าคา เลา หญ้าพง แขม และสาบแล้งสาบกา เป็นต้น
ในอดีตพื้นที่บริเวณไหล่เขาใกล้ยอดดอยภูลังกาเคยเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น แต่ในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการทดแทนทางธรรมชาติและเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ คือต้นกำเนิดของแม่น้ำยม และยังมีพันธุ์ไม้เด่น เช่น “ทุ่งดอกโคลงเคลง” หรือดอกเอนอ้า ซึ่งมีคำเรียกแตกต่างกันไปหลากภาษาท้องถิ่น เช่น ภาษาคำเมืองเรียก “ดอกข้าวจี่” ภาษาม้ง เรียกว่า “จื๋อจั่วท้ง” ภาษาเย้า เรียก “กงุ้งซัง” มีลักษณะเป็นไม้พุ่มดอกสีม่วง มีความสวยงามออกดอกบานสะพรั่ง ในช่วงปลายฝนต้นหนาว และช่วงเทศกาลสงกรานต์ขึ้นรวมกันเป็นทุ่งกว้าง และกระจัดกระจายทั่วไปในวนอุทยานภูลังกา อีกทั้งยังมีสรรพคุณบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ บำรุงดี บำรุงตับ+ไต และแก้อ่อนเพลีย
ป่าก่อโบราณ เป็นสภาพป่าดิบเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์พืชสมุนไพรและต้นก่อขนาดใหญ่จำนวนมาก นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมพันธุ์พืชดอกไม้ป่ากล้วยไม้ป่า และชมนกได้อย่างสนุกตื่นเต้นโดยเฉพาะช่วยปลายฝนต้นหนาว ที่สำคัญคือการได้มาศึกษาพันธุ์ไม้ป่าหายากตามเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ในวนอุทยานภูลังกาจะพบความแปลกกับพันธุ์ไม้หายากที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ต้นชมพูภูพาน เนียมแดง และเหมือดคนแดง เป็นต้น
บทความโดย Traveller Freedom