โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย : วัดมหาธาตุ
สถานที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
โทรศัพท์ : 055 697 310
พิกัด : 17.016770, 99.704678
วัดมหาธาตุ ชื่อวัดนี้มีด้วยกันหลายแห่งในประเทศไทย แต่วัดที่กำลังกล่าวถึงต่อไปนี้ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงสุโขทัย ประกอบด้วยเจดีย์ประธาน วิหาร มณฑป โบสถ์ และเจดีย์ราย มีพระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นศิลปะแบบสุโขทัยแท้ ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์ทรงปราสาทก่อด้วยอิฐที่ได้รับอิทธิพลมาจากล้านนา จากการสำรวจพบว่าบริเวณวัดมหาธาตุ มีเจดีย์แบบต่างๆ มากถึง 200 องค์ วิหาร 10 แห่ง ซุ้มพระหรือมณฑปจำนวน 8 ซุ้ม พระอุโบสถ 1 แห่ง และตระพังอีก 4 แห่ง
เจดีย์ประธานวัดมหาธาตุ ตั้งอยู่โดดเด่นเป็นสง่ามีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงออกบอกถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยขนานแท้ แต่คงมิได้เป็นรูปแบบแรกเริ่มเมื่อมีการสร้างวัดมหาธาตุขึ้น ของเดิมน่าจะมีลักษณะเช่นเดียวกับเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน และตั้งอยู่ตรงกลางของด้านทั้งสี่ รายรอบเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทิศจำนวน 8 องค์ องค์ที่อยู่ตรงมุมทั้งสี่เป็นเจดีย์ที่มีอิทธิพลของศิลปะหริภุญชัย (จังหวัดลำพูนปัจจุบัน) ส่วนเจดีย์ที่อยู่กึ่งกลางของด้านทั้งสี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบสุโขทัย ซึ่งมีลวดลายปูนปั้นแบบอิทธิพลศิลปะลังกา รอบๆ เจดีย์ประธานมีปูนปั้นรูปพระสาวกในท่าอัญชุลีจำนวน 168 รูป เดินประทักษิณโดยรอบพระมหาธาตุ
ทางด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานของวัดมหาธาตุ มีวิหารขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำฤทธิ์ขนาดยักษ์ จนเป็นที่กล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นั้นก็คือ “พระศรีศากยมุนี” ซึ่งปัจจุบันได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ที่ด้านเหนือและด้านใต้ของเจดีย์มหาธาตุมีพระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระที่มีขนาดใหญ่เรียกว่า “พระอัฎฐารศ” ประดิษฐานภายในมณฑปที่ขนาบอยู่สองข้างขององค์เจดีย์ประธาน
ถัดจากวิหารหลวงของวัดมหาธาตุ ทางด้านทิศตะวันออกมี “วิหารสูง” ที่เรียกชื่อเช่นนี้ เนื่องจากวิหารหลังนี้มีฐานก่ออิฐเป็นลักษณะฐานบัว มีความสูงประมาณเมตรครึ่ง เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นมาในภายหลัง ทำให้พื้นที่ว่างระหว่างหน้าวิหารสูงกับกำแพงแก้วด้านหน้าเหลือเพียงพื้นที่แคบๆ ไม่ได้สัดส่วนกับความสูงของตัวอาคาร นอกจากนี้ภายในวัดมหาธาตุยังมีกลุ่มเจดีย์จัดแยกออกเป็นกลุ่มหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์พระธาตุ มีศูนย์กลางอยู่ที่เจดีย์ 5 ยอด ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากเจดีย์พระธาตุ