พูดถึงเรื่องสถาปัตยกรรมแล้วนั้น วัดดูเหมือนจะเป็นอะไรที่คนไทยทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย ทั้งในแง่ของการเป็นพุทธศาสนิกชน รวมทั้งการศึกษามาเรียนรู้ในเชิงท่องเที่ยวกันอีกด้วย

วัดเขาพระอังคาร

ใน จ. บุรีรัมย์ ดินแดนที่ในอดีตเคยศิลปะขอมเรืองอำนาจ ที่นี้มีวัดที่น่าสนใจ ใคร่แก่การแวะมาเยี่ยมชมกันครับ ซึ่งวัดที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้ คือ วัดเขาพระอังคาร 

วัดเขาพระอังคาร ตั้งอยู่ บ้านเจริญสุข ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เป็นวัดที่สร้างมานานในยุคที่ขอมเรืองอำนาจแถวนี้ โดยสถาบัตยกรรมที่เห็นในวัดปัจจุบัน ส่วนใหญ่สร้างใหม่ทับของเก่า ตัววัดตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 ก.ม. 

วัดเขาพระอังคาร

จากประวัติความเป็นมาวัดเขาพระอังคาร สร้างเมื่อสมัยใดไม่มีใครทราบ  แต่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนปราสาทเขาพนมรุ้ง  ในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจและนับถือศาสนาพราหมณ์  อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาถูกอิทธิของศาสนาพราหมณ์เข้าครอบครอง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ขาดการทำนุบำรุงรักษาจากผู้คนมานับเป็นพัน ๆ ปี

วัดเขาพระอังคาร

ต่อมาเมื่อปี  พ.ศ. 2471 หลวงพ่อก้อน ยโสธโร วัดโพธาราม บ้านผักหวาน ตำบลถนนหัก อำเภอนางรอง  ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูโสภณธรรมคุต ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอนางรองได้นำพระภิกษุสามเณรและญาติโยมบ้านผักหวาน มาสร้างศาลาเก็บรอยพระพุทธบาทจำลองเพื่อทำบุญเดือน 6 เป็นประจำทุกปี

พ.ศ. 2494  พระครูโสภณธรรมคุตได้มรณภาพลง  โบราณสถานวัตถุก็ขาการทะนุบำรุง  จะมีแต่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง  เช่น  บ้านเจริญ  บ้านหนองสะแก  บ้านป่ารังมาทำบุญตักบาตรเพื่อทำพิธีบวงสรวงขอฝนทุกปี

พ.ศ. 2497  หลวงพ่อบุญมา  ธมฺมโชโต  เจ้าอาวาสวัดเจริญสุข ได้นำญาติโยมบ้านเจริญสุขและญาติโยมบ้านใกล้เคียงมาทำถนนขึ้นไปบนเขาพระอังคาร  เพื่อสะดวกในการเดินทางขึ้นไปทำบุญบนเขาพระอังคารในเดือน  10  โดยใช้เกวียนเป็นพาหนะ

พ.ศ. 2500 หลวงพ่อบุญมา ธมฺมโชโต  ได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมสมถกัมมัฏฐานและวิปัสนากัมมัฏฐาน  ที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ เมื่อกลับมา  รับนิมนต์จากผู้ใหญ่และข้าราชการให้ไปจัดสร้างสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดเขากระโดง  จังหวัดบุรีรัมย์  ก่อนไปหลวงพ่อบุญมาได้ทำนายไว้ว่าตัวท่าน     บุญบารมียังน้อย ไม่สามารถจะสร้างเขาพระอังคารให้เจริญรุ่งเรืองได้  ต่อไปจะมีผู้มีบุญบารมีมาสร้างเขาพระอังคารให้เจริญรุ่งเรืองได้  หินก็จะขายได้และจะมีพาหนะยวดยานขึ้นลงมากมาย

วัดเขาพระอังคาร

หลักจากนั้นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนเขาพระอังคารจึงรกร้าง ขาดผู้ดูแลรักษา  ปีหนึ่งจะมีเฉพาะชาวบ้านใกล้เคียงขึ้นไปทำบุญตักบาตร  ทำพิธีบวงสรวงขอฝนปีละครั้ง

พ.ศ. 2520 พระอาจารย์ปัญญา  วุฒิโส  จากสำนักถ้ำผาแดง  จังหวัดอุดรธานี  ได้นั่งปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน  ได้นิมิตเห็นหลวงปู่วิริยะเมฆซึ่งเป็นผู้สำเร็จอรหันต์ ประทับอยู่บนเขาพระอังคารมาอาราธนาท่านให้ไปทำการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุอันล้ำค่า  มีพระอังคารธาตุ  ใบเสมาศิลาแลง 8 คู่ 8 ทิศ และรอยพุทธบาทจำลองเพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  สืบทอดประเพณีของพุทธองค์ให้เจริญรุ่งเรืองให้แล้วเสร็จภายใน  10  ปี

วัดเขาพระอังคาร

ในเดือนมกราคม  พ.ศ. 2520 พระอาจารย์ปัญญา  วุฒิโส  ได้เดินธุดงค์มายังเขาพระอังคาร  ก็ได้พบเห็นโบราณวัตถุตามที่หลวงปู่วิริยะเมฆนิมิตให้ทุกอย่างจึงได้จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมเรื่อยมาและมีญาติโยมจากหมู่บ้านใกล้เคียงและต่างจังหวัดมารักษาศีลปฏิบัติธรรมอยู่ประจำเสมอมา และปัจจุบันเขาพระอังคารได้จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานและโบราณวัตถุของจังหวัดบุรีรัมย์อีกแห่งหนึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนชาวพุทธและนักเรียนจากโรงเรียน   ต่าง ๆ ได้ไปเข้าค่ายพุทธบุตรที่วัดเขาพระอังคาร  เป็นที่ท่องเที่ยวของอำเภอเฉลิมพระเกียรติเพราะมี สิ่งก่อสร้างประยุกต์หลายสมัยมารวมกันไว้เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา

สำหรับสิ่งที่น่าสนใจ ภายในวัด มีอุโบสถ ที่ออกแบบโดยนำศิลปะและสถาปัตยกรรมยุคสมัยต่างๆ มาผสมกลมกลืนรูปลักษณ์อุโบสถคล้ายปรางสามยอด  มียอดเจดีย์แต่ละองค์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม  ลดหลั่นกันไป  กึ่งกลางของฐานแต่ละชั้นทำเป็นชั้นทำเป็นซุ้มเรือนแก้วประดับอย่างสวยงามที่น่าสนใจ  คือมีพระประธานพระพุทธรูปปางมารวิชัย

วัดป่าพระอังคาร

ส่วนโบราณวัตถุเก่าแก่และสิ่งก่อสร้างใหม่ มีใบเสมาหินแกะสลักรอบอุโบสถทำจากหินศิลาแลง 8 คู่ 8 ทิศ ขนาดสูง 108 ถึง 210 เซนติเมตร  เป็นศิลปะขอมแบบไพรกเม็ง  สันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่  13-14  เกือบทุกหลักสลักเป็นเทวรูปยืนถือดอกบัว  แต่งกายตามแบบความนิยมของคนในยุคนั้นคือนุ่งผ้าสั้นมีชายพกด้านขวา  เทรูปส่วนใหญ่มีลักษณะไม่สมบูรณ์เพราะถูกขโมยลักลอบสกัดเอาภาพพระพักตร์ออกไป  จึงได้ใช้ปูนปั้นพอกซ่อมแซมไว้แต่ก็ยังเหลือใบเสมาที่ค่อนข้างสมบูรณ์ให้ชม  ใบเสมาสลักเป็นรูปทิพยบุคคลหรือเทวรูปในพระพุทธศาสนานิกายมหายานประทับยืนบนแท่นสี่เหลี่ยมด้านหลังมีพัดโบก และมีฉัตรอยู่ด้านบน นอกจากนี้ก็ยังมี รอยพระพุทธบาทจำลองไม่ทราบหลักฐานการสร้างพระอังคารธาตุเป็นสิ่งที่ควรสักการบูชาได้ประดิษฐานไว้บนอุโบสถ พระพุทธรูปปางมารวิชัยรอบอุโบสถ 108 องค์ ตำหนักหลวงปูวิริยะเมฆ พระนอนขนาดใหญ่ 1 องค์ มณฑปประดิษฐานพระพุทธรูป พระมหากัจจายนะ ศาลาเจ้าแม่กวนอิม และศาลาปฏิบัติธรรม

ถือได้ว่าวัดแห่งนี้ เป็นวัดที่น่าสนใจ ในการมาท่องเที่ยวของ จ.บุรีรัมย์ กันเลยทีเดียวครับ