“ถ้าให้เปรียบนะ ที่นี่สวยเหมือนวัดบ้านเด่น ที่เชียงใหม่” สหายร่วมทางบอกกับผมเอาไว้แบบนั้น หลังจากที่ปลายทางของพวกเรา คือการมาเที่ยว “วัดแสงแก้วโพธิญาณ” ใน ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
หลังจากรถตู้ผ่าฝนจากเชียงใหม่มาเชียงราย ผมและสหายอีกหลายคน ก็พากันเดินลงรถ หลบฝนภายในวัด ซึ่งเมื่อฝนซาได้ที ชนิดที่คำนวณแล้วว่าไม่น่าจะเปียก ก็ออกเดินชมสิ่งต่างๆ ภายในวัดกันอย่างจำเริญใจ
ประวัติความเป็นมาของวัดแสงแก้วโพธิญาณนั้น เริ่มจากพ่อหลวงยา ศรีทา และชาวบ้านป่าตึงงาม (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านใหม่แสงแก้ว) และคณะศรัทธาอยากจะมีวัดขึ้นในหมู่บ้าน เพื่อเป็นสถานที่ทำบุญยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน และพุทธศาสนิกชนทั่วไป จึงได้กราบอาราธนาพระครูบาอริยชาติ อริยจิตโต มาจากวัดพระธาตุดงสีมา ตำบลแม่พริก อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย มาสร้างวัดขึ้นในหมู่บ้าน ท่านพระครูบาตอบตกลงและเริ่มตามหาที่ดินที่เคยนิมิตเห็น เมื่อพบที่แล้วกรวดน้ำอธิฐานขอสร้างบารมีในที่แห่งนี้ หลังจากนั้นอีกไม่นานก็มีเจ้าภาพนำที่ดินแห่งนั้นมาถวาย จำนวน 19 ไร่ จึงเริ่มวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2549 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ (แปดเป็ง) วันวิสาขบูชา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านครูบาจึงได้เริ่มก่อสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุต่างๆ โดยใช้ศิลปะแบบผสมผสานล้านนา พม่า ไต (ไทลื้อ) ซึ่งใช้ระยะเวลาอย่างรวดเร็วในการก่อสร้าง จนพัฒนาวัดแสงแก้วโพธิญาณต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอย่างที่ทุกคนเห็นกันในภาพ
ในแง่ของพุทธศิลป์งานช่าง วัดแสงแก้วโพธิญาณ จัดได้ว่ามีความโดดเด่นสวยงามเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากครูบาอริยชาติ เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนและช่างจดช่างจำ ความรู้จากตำรา จากการธุดงค์ และจากการฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาอาจารย์ผู้ทรงภูมิธรรมหลายต่อหลายท่าน ทำให้ท่านเป็น “พหูสูต” ผู้มีความรอบรู้อย่างยิ่งผู้หนึ่ง จนถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานชิ้นสำคัญ คือการอำนวยการก่อสร้างวัดแสงแก้วโพธิญาณ ทำให้ได้เห็นถึงความเป็นพระนักพัฒนาที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ของครูบาอริยชาติได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่ท่านได้อ่านได้ศึกษาเรียนรู้มา ตลอดจนความรู้จากประสบการณ์ตรงที่ท่านพบจากการออกธุดงค์ ล้วนถูกนำมาถ่ายทอดสู่องค์ประกอบต่างๆ ภายในวัดแสงแก้วโพธิญาณได้อย่างงดงามและลงตัว เป็น “พุทธศิลป์” ซึ่งเป็นได้ทั้ง “อาหารตา” และ “อาหารใจ” ให้กับญาติโยมผู้เข้ามาเยี่ยมเยือนได้เสพงานศิลป์เหล่านี้อย่างอิ่มเอมและเห็นถึงคุณค่าในวัฒนธรรมเก่าแก่ของบรรพบุรุษ
และนี่เองจึงเป็นเหตุผลให้ครูบาอริยชาติได้นำศิลปะต่างๆ มาผสมผสานอยู่ในงานช่างและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ของวัดให้มากที่สุด คือเพื่อให้วัดแสงแก้วโพธิญาณ เป็นทั้งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่พึ่งทางใจของชาวพุทธ และเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้มุ่งเสพงานศิลป์โดยเฉพาะได้อีกทางหนึ่ง
ครูบาอริยชาติได้อธิบายถึงลักษณะของ “พุทธศิลป์” และศิลปะต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่ภายในวัดแสงแก้วโพธิญาณว่า เป็นการผสมผสานงานศิลป์ 3 รูปแบบ นั่นคือ ศิลปะล้านนา ศิลปะไต และศิลปะพม่า ซึ่งศิลปะแต่ละรูปแบบเหล่านี้มีเอกลักษณ์และความงามที่โดดเด่นและแตกต่างกัน
ศิลปะล้านนาส่วนมากจะมีลักษณะสงบ เรียบๆ ง่ายๆ ในขณะที่ศิลปะพม่าจะเน้นความอลังการ ส่วนศิลปะไต (ไทยใหญ่) จะเน้นความสลับซับซ้อน วิจิตรพิสดาร ครูบาอยากให้ดูแล้วมีทั้งความสงบ มีทั้งความอลังการ และมีความสลับซับซ้อนของงานศิลปะด้วย
สำหรับลักษณะการวางรูปแบบศิลปะภายในวัดแสงแก้วโพธิญาณนั้น หากเป็นโครงสร้างหลักหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นองค์ประกอบหลัก เช่น พระอุโบสถ หอระฆัง หอไตร เป็นต้น จะใช้รูปแบบศิลปะล้านนา ในขณะที่สิ่งปลูกสร้างรอง เช่น ศาลา วิหาร กุฏิ หอฉัน ส่วนใหญ่เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะพม่ากับล้านนาซึ่งเป็นรูปแบบที่พบเห็นโดยทั่วไปในวัดทางภาคเหนือ ส่วนศิลปะแบบไตซึ่งมีรูปแบบที่สลับซับซ้อนส่วนใหญ่นำมาใช้ในการตกแต่งส่วนประกอบของอาคารต่างๆ เช่น บริเวณส่วนยอดหลังคาหรือส่วนยอดปราสาทมักเป็นศิลปะแบบไต เป็นต้น
นอกจากศิลปะที่ปรากฏในสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารต่างๆ แล้ว ยังมีงานศิลปะปูนปั้นและศิลปะประดับต่างๆ ซึ่งพบเห็นได้ตามส่วนต่างๆ ภายในวัด แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลด้านคติความเชื่อที่ได้รับมาจากหลายๆ แหล่ง ศิลปะเหล่านี้ เช่น นกยูง ที่ลูกศิษย์และญาติโยมหลายท่านให้ความเห็นว่า สาเหตุที่มักมีสัญลักษณ์ “นกยูง” ปรากฏอยู่ทั่วไปภายในวัด เนื่องจากนกชนิดนี้เป็นสัตว์ที่ครูบาอริยชาติโปรดปรานมากเป็นพิเศษ ในขณะที่พระธนพนธ์ ขนฺติวโร หรือ “หลวงพี่อั้ม” พระเลขาฯ ของครูบาอริยชาติ ได้อธิบายว่า เป็นความเชื่อจากชาดกที่ว่า ก่อนที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในพระชาติหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นพญานกยูงทอง (พระมหามยุรีวิทยาราชา) ดังนั้น นกยูงจึงเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า การตกแต่งส่วนสำคัญๆ ของอาคารด้วยงานศิลป์รูปนกยูง จึงเป็นการสื่อถึงพระพุทธเจ้าอีกทางหนึ่งนั่นเอง
มกรคายนาค (ตัวเหราที่อยู่บันไดทางขึ้น) เป็นศิลปะพม่า ทั้งนี้เพราะดินแดนภาคเหนือของไทยมีอาณาเขตติดกับพม่า ทั้งยังเคยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ามาก่อน จึงรับอิทธิพลจากฝั่งพม่ามาโดยปริยาย ดังนั้น บันไดนาคทางขึ้นของวัดที่เป็นแบบ “มกรคายนาค” จึงเป็นรูปแบบงานศิลปะที่พบเห็นได้ทั่วไปในพุทธสถานแถบทางเหนือของไทย
ส่วน มอม เป็นสัตว์ผสมระหว่างนาค แมว และสิงห์ เป็นศิลปะทางเหนือ กล่าวกันว่าในสมัยก่อนชาวบ้านใช้ “มอม” ในการแห่ขอฝน ก่อนที่จะมาจึงใช้แมวอย่างที่คุ้นเคยกันในปัจจุบัน ฯลฯ
ภายในบริเวณวัดแสงแก้วโพธิญาณนั้น หลักๆ จะถูกจัดแบ่งกันออกเป็น 3 ส่วน โดยแต่ละส่วนก็มีรายละเอียดกันดังต่อไปนี้
ชั้นล่าง…โลกมนุษย์
คือบริเวณส่วนที่อยู่ด้านหน้าของวัด มีลักษณะเป็นลานกว้าง ใช้เป็นที่จอดรถสำหรับพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาทำบุญที่วัด โดยนอกจากจะปลูกต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับเพื่อตกแต่งและให้ร่มเงาแล้ว ยังจัดสร้างศาลาเล็กๆ ให้เป็นที่สาธารณะสำหรับพุทธศาสนิกชนได้พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย จากบริเวณหน้าวัดนี้เอง เมื่อมองเข้าไปตรงบันไดทางขึ้นจะเห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการของสถานที่และศิลปวัตถุต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากที่บริเวณบันไดนาคอันเป็นทางขึ้นของวัด มี “สิงห์” ขนาดใหญ่มาก 1 คู่ ตั้งอยู่ด้านซ้ายและขวาของบันได โดยความเชื่อนั้น สิงห์ทำหน้าที่อารักขาอยู่ที่หน้าประตูของสถานที่นั้นๆ
ฝั่งด้านข้างของสิงห์ทั้งสองตัว มีประติมากรรมปูนปั้นขนาดใหญ่จำนวนมากตั้งเรียงเป็นแนวยาวจนสุดบริเวณด้านหน้าวัด กล่าวคือ อย่างพระสังกัจจายน์องค์ขนาดใหญ่ พระพุทธรูปปูนปั้นจำนวน 4 องค์ พระอุปคุตปูนปั้นซึ่งอยู่ในท่า “จกบาตร”
ชั้นกลาง… ชั้นสวรรค์-พรหมโลก
คือพื้นที่นับตั้งแต่ทางขึ้นบันไดนาคด้านหน้าวัดเป็นต้นไป จนถึงด้านหลังของวิหารซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ใช้สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและศาสนพิธีต่างๆ ตลอดจนใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส โดยพื้นที่ใช้งาน ส่วนนี้นับเป็นเขตพุทธาวาส เนื่องจากเป็นพื้นที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นหลัก โดยสิ่งปลูกสร้างที่จัดให้อยู่ในพื้นที่นี้ ได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหาร หอระฆัง หอไตร เป็นต้น
ชั้นกลางนี้ครูบาอริยชาติท่านเปรียบเป็นชั้นสวรรค์จนถึงชั้นพรหม โดยท่านได้ออกแบบให้มีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของชั้นสวรรค์และพรหมโลกเอาไว้หลายอย่าง ซึ่งเมื่อเดินขึ้นบันไดนาคมาถึงเขตนี้ จะเห็นปราสาท 16 หลัง (เปรียบเสมือนชั้นพรหมซึ่งมีอยู่ 16 ชั้นฟ้า) โดยจะเห็นว่านอกเหนือจากพระอุโบสถแล้ว สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของชั้นพรหมแห่งนี้ จะมีจำนวน 16 อย่างทั้งสิ้น กล่าวคือ ปราสาท 16 หลัง ศาลาด้านเหนือ 16 ห้อง ศาลาด้านใต้ 16 ห้อง วิหารด้านล่าง 9 ห้อง ด้านบน 7 ห้อง (รวมเป็น 16 ห้อง)
ที่ชั้นกลางนี้ ครูบาอริยชาติท่านเจาะจงให้สร้าง “สัญลักษณ์” ที่แสดงนัยสำคัญทางพระพุทธศาสนาเอาไว้หลายประการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นอนุสสติเตือนใจญาติโยมให้นึกถึงสัจธรรมของชีวิต เพื่อความไม่ประมาททั้งทางกาย วาจา และใจ นั่นเอง
ชั้นบน…นิพพาน
เป็นชั้นสูงสุดของวัดแห่งนี้ โดยเป็นเขตสังฆาวาสคือสำหรับเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ ตลอดจนเป็นที่กระทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ ที่ชั้นนี้นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุแห่งวัดแสงแก้วโพธิญาณแล้ว ยังเป็นส่วนที่ใช้ประดิษฐานรูปหล่อโลหะครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
พุทธธรรมที่แฝงอยู่ในสิ่งปลูกสร้างของชั้นนี้เริ่มมาตั้งแต่สะพานด้านหลังพระวิหาร ซึ่งครูบาอริยชาติอุปมาให้สะพานแห่งนี้เป็น “สะพานข้ามวัฏฏะสงสาร” เนื่องจากเป็นสะพานเชื่อมสำหรับข้ามพื้นที่ส่วนกลางมายังส่วน “นิพพาน” อันเป็นส่วนบนสุดของวัด
อนึ่ง เนื่องจากครูบาศรีวิชัยได้ให้ความสำคัญกับ “พระโพธิญาณ” อย่างมาก โดยครูบาอธิบายว่า…ในความเชื่อของชาวล้านนานั้น เชื่อว่าพระโพธิสัตว์ที่ลงมาจุติในล้านนาก็คือ “ครูบาศรีวิชัย” ดังนั้น นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ท่านจัดสร้างรูปหล่อของ “พระโพธิสัตว์” (คือครูบาศรีวิชัยตามความเชื่อในแถบล้านนา) มาตั้งเอาไว้ในพื้นส่วนนี้ให้เป็นสัญลักษณ์แทน “พระโพธิญาณ” เพื่อเป็นความหมายว่า “เหนือโพธิญาณ มีพระโพธิสัตว์” และครูบาศรีวิชัยก็คือพระโพธิสัตว์ที่จะนำพาญาติโยมทั้งหลายข้ามวัฏฏะสงสารนั่นเอง
ถือได้ว่าวัดแสงแก้วโพธิญาณ เป็นอีกหนึ่งวัดที่ห้ามพลาดในการแวะมาเที่ยว จ.เชียงราย กันครับ