รำลึกวีรชนชาวจีนผู้เสียสละ @ พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติ

สถานที่ตั้ง : บ้านสันติคีรี ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

โทรศัพท์ : 053 765129 (องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สลองนอก)

พิกัด : 20.152345, 99.621230

พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติ

กองพล 93 อดีตกำลังพลของนายพลเจียงไคเช็ค จำนวนกว่า 20,000 คน กลายเป็นกองกำลังพลัดถิ่น เมื่อครั้งสู้รบในสมรภูมิทางตอนใต้ของจีน หลังจากแพ้สงครามกองกำลังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศตนเองได้ จึงได้อพยพเข้ามายังบริเวณฝั่งประเทศไทย จนถึงปี พ.ศ. 2497 สหประชาชาติได้ขอให้ประเทศไทย และสหรัฐอเมริกา ร่วมดำเนินการอพยพกองกำลังดังกล่าวไปไต้หวันส่วนหนึ่ง ส่วนกองกำลังที่เหลือถูกทหารพม่ากวาดล้างได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทย โดยมีนายพลหลี่เหวินฮ่วน หรือชื่อไทย ชัย ศิริ เป็นผู้นำอยู่ที่บ้านผาง๊อบ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ และนายพลต้วน ซี เหวิน หรือชื่อไทย ชีวิน คำลือ เป็นผู้นำมาอยู่ที่ ดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติ

พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติภาคเหนือ ประจำประเทศไทย เป็นแหล่งข้อมูลประจำชุมชนของหมู่บ้านสันติคีรี สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงประวัติศาสตร์การสู้รบของ “กองพล 93” ที่ได้ช่วยราชการไทยต่อสู้ และปราบปรามคอมมิวนิสต์ ในพื้นที่ดอยหลวง ดอยยาว และดอยผาหม่น จังหวัดเชียงราย ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2514 – 2528 และพื้นที่เขาย่า จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2524 จากการสู้รบดังกล่าว อดีตทหารจีนคณะชาติได้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไทยจึงกำหนดสถานะให้อดีตทหารจีน และคณะชาติ เหล่านั้น เป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศไทย และให้แปลงเป็นสัญชาติไทยได้ ซึ่งทำให้อดีตทหารจีนคณะชาติเหล่านี้ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างมาก

พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติ

รูปแบบพิพิธภัณฑ์เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ภายในแบ่งเป็น 3 อาคารหลัก คืออาคารพิพิธภัณฑ์ห้องที่ 1 เป็นอาคารอนุสรณ์สถานทหารจีนคณะชาติภาคเหนือประจำประเทศไทย และอาคารพิพิธภัณฑ์ห้องที่ 2 และอาคารพิพิธภัณฑ์ห้องที่ 3 แสดงข้อมูลประวัติความเป็นมาของชุมชนบนดอยแม่สลอง ประวัติของคณะทหารจีนคณะชาติ การตั้งรกรากในประเทศไทย และห้องสมุดเก็บรวบรวมข้อมูล และภาพถ่ายประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และทรงคุณค่า

พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติ

 

ด้านในอาคารกลางของอนุสรณ์สถานเป็นสถานที่ตั้งของ "ป้ายวิญญาณ" ของผู้ที่ล่วงลับในเหตุการณ์ โดยในแต่ละปีจะมีการจัดพิธีรำลึกถึงผู้วายชนม์ นอกจากนี้เนื้อหานิทรรศการในอาคาร 2 ยังแสดงให้เห็นถึงการสงเคราะห์ต่างๆ ของสมาคมจีนเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัย ความช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวคิด "ธารน้ำใจจากไต้หวัน" หรือ Love of Motherland and the Benevolence of Taiwan ทั้งการสงเคราะห์ในรูปแบบของสิ่งของ และทุนการศึกษา อันเป็นที่มาของการก่อตั้งโรงเรียนภาษาจีนแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติ

 

by Traveller Freedom