พบว่าตัวเองเป็นคนชอบมาถ่ายภาพที่สถานีรถไฟ
มีหลายจังหวัดด้วยกันที่ผมชอบมาถ่ายภาพ เดินดูนั้นนี้ไปเรื่อยในตัวสถานี แบบมันมีอะไรให้น่าสนใจในความเป็นไปของชีวิตผู้คน เช่น คุณจะสามารถพบเห็นคนระดับรากหญ้าไปจนถึงคนชั้นสูง (มีเหรอ) ที่มาใช้บริการ เห็นการทำงานของคนในสถานี เห็นพ่อค้าแม่ค้าเดินเร่ขายทำมาหากินเลี้ยงชีพตัวเอง ไปจนถึงคนจรจัดที่ใช้ชีวิตอย่างไม่แยแสโลก
มาอุดรรอบบนี้ผมมาด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป พยายามทำให้ตัวเองเป็นนักท่องเที่ยว มองหลายๆ อย่างให้ดูแปลกตากว่าที่เคยเห็นเป็นประจำเมื่อก่อนหน้านี้ที่เคยตะบันชีวิตสมัยยังเด็ก ไปจนถึงเมื่อครั้งเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งมันก็แปลกตาจริงๆ เพราะหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เหมือนๆ กับประโยคหนึ่งที่บอกว่า “การเปลี่ยนแปลงคือนิรันดร์”
ในความเปลี่ยนแปลงรอบด้านในตัวเมือง อีกทั้งรอบๆ สถานีรถไฟ ที่แหล่งช้อปปิ้งขยายตัวมากขึ้น ดูเหมือนว่าตรงสถานีรถไฟอุดรธานีจะยังคงเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนไปน้อยที่สุด ถ้าจะให้เปรียบถึง สถานีรถไฟอุร ก็เหมือนไม้ต้นใหญ่ที่อยู่มาก่อน แล้วถูกโอบล้อมไปด้วยไม้ต้นเล็กๆ หลายๆ ต้น ที่เป็นตัวแทนของตลาดต่างๆ
ระหว่างสองตลาดกลางคืนขนาดใหญ่คือ ยูดีบาร์ซ่า และ ตลาดปรีชา สุดถนนประจักษ์ด้านทิศตะวันออก สถานีรถไฟอุดรธานี ตั้งตระหง่านอยู่ตรงนั้น โดยอาคารตัวใหม่ที่สร้างขึ้นได้รับความเมตตาจากหลวงตามหาบัว ในการบริจาคเงินสร้างตัวอาคาร มีหน้าที่เป็นสถานีรถไฟที่คอยรับส่งผู้โดยสารไปยังปลายทางอันได้แก่ กรุงเทพฯ หนองคาย ขอนแก่น นครราชสีมา สระบุรี และอยุธยา
เส้นทางที่มายังสถานีรถไฟอุดรธานีนั้น ถือเป็นเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งก่อนจะมีเส้นทางนี้นั้นได้มีการแยกออกจากทางรถไฟสายเหนือที่สถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชี โดยในเส้นทางตอนล่าง จะผ่านจังหวัดสระบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ สุดปลายทางที่สถานีรถไฟอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี รวมระยะทาง 575 กิโลเมตร
จากนั้นเส้นทางตอนบนที่จะมายังอุดรธานี ก็แยกจากเส้นทางตอนล่างที่สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ จังหวัดนครราชสีมา ผ่านจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย ข้ามสะพานมิตรไทย-ลาวแห่งที่ 1 และสุดปลายทางที่สถานีรถไฟท่านาแล้ง ประเทศลาว รวมระยะทาง 628 กิโลเมตร ส่วนวันเวลาจริงๆ ที่เปิดเดินรถถึงสถานีรถไฟอุดรนั้น คือ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484
ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถือได้ว่าเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์รถไฟไทย เนื่องจากเป็นเส้นทางที่เปิดเดินรถสายแรกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ เดินรถถึงสถานีรถไฟนครราชสีมา และก็เช่นกันที่จังหวัดอุดรธานี ที่ได้ทำให้ประชาชนในจังหวัดนี้ได้สัญจรไปมาสะดวกเมื่อแต่ครั้งยังอดีตครับ