ค้นพบเมืองโบราณเวียงกาหลง
สถานที่ตั้ง : หมู่ที่ 15 ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
โทรศัพท์ : 053 781 507 (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเวียงป่าเป้า)
พิกัด : 19.204054, 99.539270
เวียงกาหลง เป็นชื่อของเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาดอยดง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยหลวง ณ ช่วงเขตรอยต่อคาบเกี่ยวจังหวัดเชียงราย-ลำปาง ปัจจุบันเมืองโบราณเวียงกาหลงถือเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่ง เนื่องจากได้มีการขุดค้นพบเตาเผาและชิ้นส่วนเครื่องเคลือบดินเผาในสมัยโบราณอยู่ทั่วไป และยังมีแนวคูน้ำคันดินขุดล้อมเป็นป้อมปราการ เพื่อป้องกันเมือง ทำให้หลักฐานหลงเหลืออยู่บางส่วนในปัจจุบัน ลักษณะเป็นรูปปีกกาตีวงอ้อมจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือ ส่งผลให้ผู้ที่ไม่ชำนาญทางหาทางออกไม่ได้ และหลงในที่สุด ซึ่งลักษณะผังเมืองที่หลอกล่อให้คนหลงทางเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ “เวียงกาหลง” นอกจากรูปคันคูดินรูปปีกกาที่ทำให้หลงทางแล้ว ชื่อของเวียงกาหลงยังถูกโยงให้สัมพันธ์กับตำนาน “แม่กาเผือก” อีกด้วย
ศูนย์พัฒนาศีลธรรมเวียงกาหลง ได้จำลอง “เมืองโบราณเวียงกาหลง” ขึ้นมาในพื้นที่ของวัดเวียงกาหลง ซึ่งเป็นการจำลองเมืองเวียงกาหลงในรูปแบบโมเดล มีข้อมูลและเรื่องราวที่เกี่ยวกับเวียงกาหลงซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องเครื่องเคลือบดินเผา นอกจากจะมีความสวยงามตามแบบศิลปะล้านนาแล้ว ผลงานทุกชิ้นยังแฝงไว้ด้วยเรื่องราวแห่งพุทธศาสนา ตามตำนานพื้นเมืองเรื่อง “การกำเนิดพระพุทธเจ้า 5 องค์” ซึ่งเล่ากันสืบต่อมาว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระโพธิสัตว์ได้ปฏิสนธิในครรภ์ของแม่พญากาเผือก พร้อมกันถึง 5 พระองค์เป็นจำนวนไข่ 5 ฟอง บริเวณต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำคงคา ระหว่างที่แม่กาเผือกได้ออกไปหาอาหารให้ลูกน้อยอยู่ในเวียงกาหลงนั้น ได้เกิดอาเพศภัยพิบัติพายุพัดโหมกระหน่ำ เป็นเหตุให้แม่กาเผือกหาทางออกจากเวียงแห่งนี้ไม่ได้ ส่วนไข่ทั้ง 5 ฟอง ก็ได้ถูกกระแสน้ำพัดหายไป จนถูกสัตว์ต่างๆ นำไปเลี้ยงจนอายุได้ 12 ปี ทั้ง 5 พระองค์จึงได้บำเพ็ญเพียรบารมีสำเร็จตามปณิธาน วันหนึ่งขณะที่ 5 พระองค์ได้บำเพ็ญตนเป็นฤๅษีอยู่ในป่านั้น ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ทำให้เดินทางมาพบกันโดยมิได้นัดหมาย และถามไถ่จนทราบว่าแต่ละพระองค์ต่างก็มีแม่บุญธรรมเลี้ยงกันหมด จึงได้อธิฐานตั้งจิตเพื่อตามหาแม่ที่แท้จริงด้วยแรงอธิฐานแม่พญากาเผือกจึงปรากฏต่อหน้าพระฤๅษีทั้ง 5 จากนั้นแม่พญากาเผือกจึงได้ใช้ขนของตัวเองฟั่นเป็นไส้ประทีปสัญลักษณ์ตีนกาเพื่อเอาไว้จุดสักการะผ่านแม่น้ำคงคาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ
เรื่องราวอันเป็นตำนานการเกิดพระพุทธเจ้าเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดผ่านปลายฝีพู่กันลงบนเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง โดยใช้ลวดลายโบราณผสมกับลายประยุกต์ร่วมสมัย ด้วยเหตุนี้เครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง จึงเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาล้านนาที่มีอายุกว่า 1,400 ปี จนมีผู้นิยมเก็บสะสมไว้มากที่สุด
by Traveller Freedom