ไดโนเสาร์ภูเวียง
สถานที่ตั้ง : อุทยานแห่งชาติภูเวียง ตำบลในเมือง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
พิกัด : 16.759167,102.253882
เมื่อปี พ.ศ.2519 นักธรณีวิทยาจากโครงการสำรวจแหล่งยูเรเนียมกรมทรัพยากรธรณี ได้พบซากไดโนเสาร์ครั้งแรกของประเทศไทยบริเวณเทือกเขาภูเวียง จากนั้นจึงได้ทำการศึกษาและสำรวจเพิ่มเติมจนพบแหล่งซากกระดูกไดโนเสาร์ถึง 9 แหล่ง ความสำคัญของซากกระดูกไดโนเสาร์ที่ภูเวียง คือ เป็นสกุลและชนิดใหม่หลายชนิด เช่น ไดโนเสาร์กินพืชภูเวียง (ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน) ไดโนเสาร์กินเนื้อ (สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส) และไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ โดยสามารถจำแนกรายละเอียดได้ 2 หมวด ดังนี้
ไดโนเสาร์ในหินหมวดพระวิหาร เป็นร่องรอยไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย โดยคิดเป็นอายุประมาณ 160 ล้านปี โดยพบบริเวณลานหินลาดป่าชาด เป็นรอยไดโนเสาร์หลายชนิดจำนวนมากกว่า 60 รอย บนผิวหน้าของชั้นหินทรายเนื้อละเอียดสีขาว เป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์กินเนื้อเป็นอาหาร เดินด้วย 2 ขาหลัง เคลื่อนไหวได้ว่องไว มีขนาดเล็กตระกูลซีลูโรซอร์ และรอยเท้าของไดโนเสาร์ขนาดใหญ่พวกคาร์โนซอร์
ไดโนเสาร์ในชั้นหินหมวดเสาขัว เป็นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ชิ้นแรกที่พบในอุทยานแห่งชาติภูเวียง บริเวณห้วยประตูตีหมา ซึ่งมีอายุประมาณ 150 ล้านปี และชิ้นอื่นๆ ที่พบบนยอดภูประตูตีหมา มีลักษณะใกล้เคียงกับไดโนเสาร์ซอโรพอดคาเมราซอรัส ยุคจูแรสสิก ยาวถึง 15 เมตร คอยาว หางยาว เดินด้วย 4 เท้า กินพืชเป็นอาหาร
ไดโนเสาร์ที่พบในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียงมีหลายพันธุ์ด้วยกัน เช่น พันธุ์ไซแอมโมซอรัส เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดสกุลใหม่และชนิดใหม่ พันธุ์คาร์โนซอร์ เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดขนาดใหญ่ พันธุ์คอมพ์ซอกนาธัส เป็นไดโนเสาร์ซีลูโรซอร์ขนาดจิ๋ว ตัวเท่าไก่ และพันธุ์ไดโนเสาร์ซอโรพอดชนิดใหม่ เป็นซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย มีคอยาว หางยาว เดินด้วย 4 เท้า กินพืชเป็นอาหาร โดยนักท่องเที่ยวสามารถชมซากไดโนเสาร์ภายในอุทยานแห่งชาติภูเวียงได้บริเวณ 4 หลุมขุดค้น ได้แก่
หลุมขุดค้นที่ 1 ภูประตูตีหมา แหล่งพบซากไดโนเสาร์ครั้งแรกของประเทศไทย ซากกระดูกที่พบมีขนาดใหญ่ จัดเป็นไดโนเสาร์กินพืชเป็นอาหาร สกุลและชนิดใหม่ของโลก มีคอและหางยาว เดิน 4 ขา ความยาวประมาณ 15 เมตร สูง 3 เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” บริเวณซากกองกระดูกพบฟันของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่พวกคาร์โนซอร์จำนวนกว่า 10 ตัว ซึ่งสันนิษฐานว่า ไดโนเสาร์กินพืชนี้ถูกไดโนเสาร์กินเนื้อกินเป็นอาหาร ทำให้กระดูกบางส่วนกระจัดกระจายแล้วถูกทับถมโดยตะกอนซึ่งอาจจะมาจากน้ำหลากตามฤดูกาล
หลุมขุดค้นที่ 2 ถ้ำเจีย ขุดพบเมื่อปี พ.ศ. 2536 เป็นกระดูกไดโนเสาร์กินพืชเรียงต่อกันจำนวน 6 ชิ้น
หลุมขุดค้นที่ 3 ห้วยประตูตีหมา ขุดค้นพบเมื่อปี 2536 เป็นกระดูกของไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ฝังตัวอยู่ในหินทรายหมวดหินเสาขัว เป็นชนิดพันธุ์เดียวกันกับที่ขุดพบในหลุมที่ 1 และ 2
หลุมขุดค้นที่ 9 หินลาดยาว ขุดค้นพบเมื่อปี 2536 เป็นกระดูกของไดโนเสาร์กินเนื้อ มีอายุประมาณยุคครีเทเชียสตอนต้น ลักษณะกระดูกบ่งบอกว่าเป็นบรรพบุรุษของทีเร็กซ์ มีความยาวประมาณ 6.5 เมตร จัดเป็นไดโนเสาร์สกุลและชนิดใหม่ของโลก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “ไทรันสยาม”