แม่น้ำสองสี ตั้งอยู่บริเวณดอนด่านปากแม่น้ำมูล อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบริเวณที่แม่น้ำมูลไหลลงสู่แม่น้ำโขง สายน้ำพรมแดนไทย-ลาว จึงเกิดเป็นสีของแม่น้ำสองสายที่ต่างกัน ด้วยสีที่แตกต่างกันของแม่น้ำสองสายนี้เองทำให้ชาวท้องถิ่นเรียกชื่อปรากฏการณ์นี้ด้วยประโยคที่คล้องจองกันว่า “โขงสีปูน มูลสีคราม” สำหรับจุดที่สามารถมองเห็นแม่น้ำสองสีได้อย่างชัดเจน คือ บริเวณลาดริมตลิ่งหน้าวัดโขงเจียม และบริเวณบางส่วนของหมู่บ้านห้วยหมาก ในช่วงเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่เห็นความแตกต่างของสีของแม่น้ำทั้งสองสายได้อย่างชัดเจนที่สุด
แม่น้ำสองสี อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นปรากฏการณ์ของแม่น้ำสองสายที่ไหลมาบรรจบกัน เกิดการเปรียบเทียบให้เห็นว่ามี “สี” ของสายน้ำทั้งสองสายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แม่น้ำสายแรกก็คือ “แม่น้ำมูล” หนึ่งในแม่น้ำสายหลักของจังหวัดอุบลราชธานี อีกสายน้ำหนึ่งก็คือ “แม่น้ำโขง” สายน้ำมหานทีระดับอาเซียนที่ใครๆ ก็รู้จัก โดยแม่น้ำมูลจะไหลผ่านอำเภอโขงเจียมก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำโขงที่ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตประเทศไทยกับประเทศลาว สำหรับช่วงที่เห็นสีของแม่น้ำทั้งสองแตกต่างกันอย่างชัดเจนมากที่สุดก็คือช่วงฤดูฝน ถือว่าช่วงนี้เป็นช่วง “หน้าน้ำ” ซึ่งสายน้ำจะหลากทำให้มองเห็นแม่น้ำทั้งสองสายที่ไหลมาบรรจบกันเป็นสองสีอยู่คนฟากฝั่งอย่างชัดเจน สมกับฉายาสุดเจ๋งที่เรียกกันว่า “โขงสีปูน มูลสีคราม”
นอกจากจะได้ชมความสวยงามแปลกตาของแม่น้ำสองสีแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถล่องเรือไปตามแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง สองนทีแห่งอำเภอโขงเจียม เพื่อชมทัศนียภาพและความงดงามทางธรรมชาติ รวมถึงผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำทั้งสองฟากฝั่งและสองสาย โดยแม่น้ำมูลที่มีสีออกสีครามจะไหลไปรวมกับแม่น้ำโขงที่สีออกจะขุ่นๆ เป็นสีปูน เกิดเป็นแม่น้ำโขงที่มีสีของน้ำสองสี ก่อนจะค่อยๆ รวมกันและเป็นสีเดียวกันในที่สุด เหมือนจะเป็นการผสมสี แต่แท้จริงแล้วแม่น้ำสายใหญ่กว่าอย่างแม่น้ำโขงจะดูดกลืนแม่น้ำมูลสายเล็กเข้าไปซะมากกว่า
จุดที่สามารถชมแม่น้ำสองสีได้อย่างสวยงาม คือบริเวณลาดริมตลิ่งหน้าวัดโขงเจียม และที่หมู่บ้านห้วยหมาก แต่ถึงแม้แม่น้ำจะมีสีที่ต่างกันเพียงใด แต่ก็น่าเสียดายที่การจะเก็บภาพให้เห็นความต่างได้อย่างชัดเจนนั้นต้องถ่ายภาพจากมุมสูงแบบ Bird eye view ที่ต้องใช้บริการเฮลิคอปเตอร์ หรือโดรนถ่ายภาพเท่านั้น